ความหมายและความสำคัญของพลาสติก

ความหมายและความสำคัญของพลาสติก


พลาสติกเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่มนุษย์รู้จักมานานกว่า ๑๓๐ ปี และนำมาใช้ประโยชน์ แทนโลหะ ไม้ หรือวัสดุธรรมชาติอื่นๆ เช่น ทำเส้นใยสำหรับผลิตสิ่งทอ หล่อเป็นลำเรือ และชิ้นส่วนของยานยนต์ ภาชนะ และวัสดุบรรจุภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งอุปกรณ์และเครื่องใช้อื่นๆ อีกมากปัจจุบันพลาสติกมีบทบาทอย่างยิ่งในชีวิตประจำวัน เราจะพบเห็นพลาสติกในรูปของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ตื่นนอนตอนเช้าจนกระทั่งเข้านอนในตอนกลางคืนเริ่มตั้งแต่แปรงสีฟัน หวี กล่องใส่สบู่ ขวด และกระปุกเครื่องสำอาง เครื่องประดับของสตรี หัวก๊อกน้ำ ฝักบัวและสายยาง ประตู ห้องน้ำ เสื้อผ้า กระดุม ถุงเท้า รองเท้า เครื่องใช้ไฟฟ้า วิทยุ โทรทัศน์ ถ้วย จาน โต๊ะ เก้าอี้ เครื่องตกแต่งบ้าน สีทาบ้ากระเบื้องมุงหลังคาแบบโปร่งแสง ชิ้นส่วนรถยนต์และพาหนะอื่นๆ กระเป๋า เครื่องใช้สำนักงานต่างๆ ตลอดจนอุปกรณ์การแพทย์และชิ้นส่วนอวัยวะเทียม อาจกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะไปที่แห่งใดก็จะพบเห็นพลาสติกเสมอ

พลาสติกเป็นวัสดุที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น โดยการนำวัตถุดิบที่ได้จากธรรมชาติ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม มาแยกเป็นสารประกอบบริสุทธิ์หลายชนิด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสารประกอบระหว่างคาร์บอน (ถ่าน) กับก๊าซไฮโดรเจน เมื่อนำเอาสารประกอบแต่ละชนิดมาทำปฏิกิริยาให้มีลักษณะต่อ ๆ กันเป็นเส้นสายยาวมากๆ ก็จะได้วัสดุที่มีสมบัติเป็นพลาสติก พลาสติกที่เกิดจากสารประกอบที่ต่างกันจะมีสมบัติแตกต่างกันไปด้วย และพลาสติกบางชนิดอาจเกิดจากสารประกอบมากกว่า ๑ ชนิดก็ได้

ประวัติการทำพลาสติก
มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากปฏิกิริยาเคมี และทำพลาสติกขึ้นมาใช้เป็นครั้งแรก เมื่อ ค.ศ. ๑๘๖๘ โดย จอห์น เวสลีย์ ไฮแอท (John wesley Hyatt) นักวิทยาศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้ทำการทดลองผลิตวัสดุชนิดหนึ่งจากปฏิกิริยาของเซลลูโลสไนเทรตกับการบูร ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวสามารถทำเป็นแผ่นแบนบาง มีความใสคล้ายกระจกแต่ม้วนหรืองอได้ และได้เรียกชื่อตามวัตถุดิบที่ใช้ว่า “เซลลูโลสไนเทรต” ต่อมาพลาสติกชนิดนี้ได้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย และเป็นที่นิยม เรียกว่า“เซลลูลอยด์” (Celluloid) การพัฒนาผลิตภัณฑ์พลาสติกเชิงอุตสาหกรรมได้ดำเนินไปอย่างรวดเร็วทำให้มี พลาสติกชนิดอื่น ๆ เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย
อุตสาหกรรมพลาสติกโนประเทศไทยเริ่มมีมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐ ในระยะแรกมีการนำเข้าพลาสติกเรซินจากต่างประเทศ มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกกันประปราย ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๖จึงได้มีการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกขนาดใหญ่ขึ้น แต่ยังคงต้องนำเข้าเรซินจากต่างประเทศเช่นกันจนกระทั่งใน พ.ศ. ๒๕๑๔ ประเทศไทยจึงสามารถผลิตพลาสติกเรซิน คือ พีวีซี ได้เองเป็นชนิดแรก ปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตพลาสติกได้อีกหลายชนิด เช่น พอลิเอทิลีน พอลิโพรไพลีน พอลิสไตรีน และพอลิเอสเทอร์

 


วัตถุดิบจากธรรมชาติสำหรับการผลิตพลาสติก

วัตถุดิบที่สำคัญที่ใช้สำหรับการผลิตพลาสติกคือ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากปิโตรเลียมก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินแร่ธาตุต่างๆ เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้อาจผลิตจากน้ำมันพืช และส่วนต่างๆ ของพืชได้เช่นกัน

ปิโตรเลียม
ปิโตรเลียมเป็นแหล่งวัตถุดิบที่สำคัญที่สุดสำหรับอุตสาหกรรมพลาสติกแทบทุก ชนิด ประเทศไทยมีแหล่งผลิตปิโตรเลียมหลายแห่ง แต่ไม่มีการนำมาทำประโยชน์ในด้านผลิตภัณฑ์พลาสติก มีเพียงการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม และสามารถนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกที่สำคัญ ได้แก่ สารในกลุ่มโอเลฟิน (Olefins) เช่น มีเทน อีเทน โพรเพน บิวเทนและเพนเทน และสารในกลุ่มอะโรแมติก(Aromatics) เช่น เบนซีน และอนุพนธ์ของเบนซีน สารทั้ง ๒ กลุ่มสามารถนำมาผลิตมอนอเมอร์ได้มากมายหลายชนิด

ก๊าซธรรมชาติ

ก๊าซธรรมชาติที่พบในประเทศไทยมีส่วนประกอบเป็นสารไฮโดรคาร์บอน ที่สำคัญคือ มีเทน อีเทน โพรเพน และบิวเทนเป็นส่วนใหญ่ สารไฮโดรคาร์บอนเหล่านี้ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเอทิลีนมอนอเมอร์และโพรไพ ลีนมอนอเมอร์ ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นสำหรับการผลิตพลาสติกหลายชนิด

ถ่านหินและลิกไนต์

ประเทศไทยมีแหล่งลิกไนต์สำคัญ ๒ แห่งคือ ที่แม่เมาะ จังหวัดลำปาง และที่จังหวัดกระบี่ ประโยชน์ของลิกไนต์นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับการผลิตกระแสไฟฟ้าแล้ว ยังใช้ผลิตเบนซีน และอนุพันธ์ของเบนซีน เช่น สไตรีนมอนอเมอร์ ได้ด้วย

พืชและน้ำมันพืช
วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตพลาสติกบางชนิด ได้แก่ ส่วนต่าง ๆ ของพืชและน้ำมันพืช เช่น เซลลูโลส เชลแล็ก และกรดไขมันต่างๆ

แร่ธาตุต่างๆ
สินแร่บางชนิด เช่น ถ่านโค้ก และหินปูน เป็นวัตถุดิบที่ใช้ผลิตแคลเซียมคาร์ไบด์ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอะเซทิลีน นอกจากนี้ คลอรีนที่ผลิตได้จากน้ำทะเล ตลอดจนแร่ใยหินได้นำมาใช้สำหรับผลิตพลาสติกเสริมแรง
วัตถุดิบที่ใช้เป็นสารเริ่มต้นสำหรับการผลิตพลาสติกที่ได้จากแหล่งต่าง ๆ นั้นจะมีลักษณะเป็นสารไฮโดรคาร์บอนโมเลกุลเดี่ยว เรียกว่า มอนอเมอร์ ที่สำคัญ ได้แก่ เอทิลีน ไวนิลคลอไรด์ ไวนิลฟลูออไรด์ โพรไพลีน บิวทาไดอีน เบนซีน ไซลีน ฟีนอล ยูเรีย และฟอร์มาลตีไฮด์

แหล่งที่มา 
ความหมายและความสำคัญของพลาสติก

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องที่ต้องการถูกทำเครื่องหมาย *